วันเสาร์ที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2551

พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวี

ประวัติความเป็นมาและการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์
จ่าสิบเอกทวี บูรณเขตต์ หรือที่ชาวพิษณุโลกมักเรียกว่า "ลุงจ่า หรือจ่าทวี" เป็นชาวพิษณุโลกแต่กำเนิด ได้รับความรู้ด้านช่างศิลป์จากบิดา หลังจากนั้นเข้ากรุงเทพฯ ฝึกหัดและเป็นช่างวาดประจำร้านช่างศิลป์หลายแห่ง เมื่อพ.ศ. 2498 รับราชการทหารติดยศสิบตรี ต่อมาพ.ศ. 2502 กองทัพภาคที่ 3 ส่งไปฝึกงานหล่อโลหะที่กรมศิลปากร ต่อมาจึงยึดอาชีพปั้น หล่อโลหะ โดยเฉพาะพระพุทธรูป พระประธาน และพระบูชาต่าง ๆ พ.ศ. 2521 ลาออกจากราชการ ด้วยรักในศิลปะและเห็นในคุณค่าของใช้พื้นบ้าน ลุงจ่าเริ่มซื้อหาและรวบรวมของใช้พื้นบ้านที่คนทั่วไปมองว่าเป็นของรกของทิ้ง ไม่มีราคาเช่น สุ่ม ไห ไซ โอ่ง ฯลฯ โดยสะสมมานานกว่า 30 ปี จนนำไปสู่การเกิดพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวีในปี พ.ศ. 2526
ja1.jpg (61616 bytes)
ข้าวของเครื่องใช้พื้นบ้าน ส่วนใหญ่ลุงจ่าได้มาจากพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง ได้แก่ นครสวรรค์ พิจิตร กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ ตาก สุโขทัย อุตรดิตถ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากพิษณุโลก ของบางอย่างลุงจ่าต้องดั้นด้นเข้าไปหาเองในป่า ไม่มีราคาค่างวด แต่มีคุณค่า ซึ่งผู้ชมจะได้เรียนรู้ ชีวิต ความเชื่อ ความคิดของคนในอดีตจากข้าวของเครื่องใช้เหล่านี้
ในช่วงปี พ.ศ. 2526-2533 ลุงจ่าได้อธิบายนำชมแก่ผู้สนใจทุกคน โดยเฉลี่ยมีผู้ขอชมวันละ 30-50 คน ต่อมาบ้านที่จัดแสดงทรุดโทรมและคับแคบจนเกินไป ปีพ.ศ. 2533 จึงได้จัดสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์ขึ้นใหม่ และปรับปรุงทัศนียภาพโดยรอบ ตกแต่งสวนด้วยพันธุ์ไม้ไทยหลากลาย ในส่วนของการจัดแสดงได้ประมวลข้อมูลจากสมุดบันทึกที่จดเรื่องราวที่สนใจเป็นส่วนตัวไว้ ประกอบกับได้ออกไปสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมจากชาวบ้านเพื่อให้ได้ข้อมูลสมบูรณ์ขึ้น ปัจจุบันมีอาคารจัดแสดง 3 อาคารหลัก
อาคารหลังแรก เป็นบ้านไม้ที่เจ้าของเดิมสร้างขึ้นหลังเหตุการณ์ไฟไหม้ย่านตลาดเมืองพิษณุโลกเมื่อปี พ.ศ. 2500 ลุงจ่าซื้อบ้านนี้แล้วนำของเก่าที่สะสมมาเก็บไว้ บ้านนี้เป็นพิพิธภัณฑ์รุ่นบุกเบิก จน พ.ศ. 2533 จึงสร้างอาคารอื่น ๆ เพิ่มเติม นำของเก่าไปจัดแสดงในอาคารใหญ่ บ้านนี้ใช้จัดแสดงรูปภาพเก่า ๆ ที่แสดงประวัติศาสตร์ท้องถิ่นพิษณุโลก อาทิรูปการออกตรวจราชการงานเมืองในอดีต รูปเหตุการณ์ไฟไหม้ ปี 2500 รูปทัศนียภาพเมืองพิษณุโลกก่อนและหลังไฟไหม้ใหญ่ ภาพ"ของดีเมืองพิษณุโลก" และภาพชุมชนสำคัญในอดีต เช่น ชุมชนนครไทย เป็นต้น
อาคารหลังที่สอง เป็นอาคารสองชั้น จัดแสดงข้าวของเครื่องใช้พื้นบ้านไทยในอดีต แบ่งตามประโยชน์ใช้งาน ชั้นล่างจัดแสดง กระต่ายขูดมะพร้าว เครื่องจักสาน เครื่องเขิน ตุ่ม โอ่ง หม้อน้ำ เครื่องมือจับสัตว์ เครื่องมือจับปลา เหรียญธนบัตร เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย และนิทรรศการทำนา ในบางมุมจำลองบ้านเรือนส่วนต่าง ๆ ให้ดู อาทิ ครัวไฟ พาไลซึ่งเป็นองค์ประกอบส่วนหนึ่งของบ้านเรือนไทยในอดีต เป็นพื้นที่ส่วนที่ยื่นออกมาจากตัวเรือน ใช้เป็นพื้นที่เอนกประสงค์ ส่วนพาไลนี้จำลองให้เห็นเด็กนอนเปล และมีการบันทึกเสียงร้องกล่อมเด็กด้วย ส่วนชั้นบนจัดแสดง ของเล่น เครื่องดนตรี ไม้หมอนวด เรือนอยู่ไฟหลังคลอด สักยันต์ เครื่องมือช่าง อาวุธ เครื่องทองเหลือง ตะเกียง เป็นต้น
อาคารหลังที่สาม จัดแสดงนิทรรศการชาวโซ่ง(ลาวโซ่งหรือไทยทรงดำ) กรณีศึกษาชาวโซ่งบ้านแหลมมะค่า ต.พันเสา อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก ซึ่งอพยพมาจากเพชรบุรี ราชบุรี นานนับชั่วอายุคนแล้ว ชาวโซ่งมาพิธีเสนเรือน (เลี้ยงผีปู่ย่าตายาย) เสนอะนี(สะเดาะเคราะห์เมื่อมีคนตายในบ้าน)งานกินหลอง (กินดองหรืองานแต่งงานของชาวโซ่ง) เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีส่วนร้านค้าจำหน่ายของที่ระลึก อาทิ เสื้อยืด เข็มกลัด กระเป๋าผ้า โปสการ์ด ฯลฯ ซึ่งรายได้ส่วนหนึ่งนำมาช่วยแบ่งเบาค่าใช้จ่ายในพิพิธภัณฑ์ นอกเหนือจากลุงจ่าแล้วผู้ที่ดูแลและช่วยงานพิพิธภัณฑ์อีกคนหนึ่งคือคุณพรศิริ บูรณเขตต์ บุตรสาวจ่าทวี
ทุกวันนี้จ่าสิบเอกทวี ยังคงเสาะหารวบรวมสิ่งของเครื่องใช้และความรู้ที่ยังไม่มีอยู่ในพิพิธภัณฑ์มาเพิ่มเติมตลอดเวลา นอกจากนี้ยังปรับปรุงการจัดแสดงอยู่เสมอเท่าที่แรงศรัทธาและแรงทรัพย์ของท่านและครอบครัวจะทำได้ เพื่อเผยแพร่ "ขุมทรัพย์ทางประวัติศาสตร์และภูมิปัญญาไทย" ให้กว้างขวางที่สุด

b1.jpg (43132 bytes)

อาคารพิพิธภัณฑ์แสดงเครื่องมือเครื่องใช้และวิถีชีวิตชาวบ้าน


ja3.jpg (44395 bytes)

การจัดแสดงบริเวณชั้นล่างของอาคาร


ja7.jpg (38570 bytes)

มุมครัวไฟซึ่งอยู่บริเวณชั้นล่างของอาคาร


ja6.jpg (36885 bytes)

บริเวณจุดพักผ่อนหลังจากเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์แล้ว


ja2.jpg (39500 bytes)

คุณพรศิริ สาธิตวิธีการใช้เครื่องมือดักสัตว์


ja8.jpg (39343 bytes)

ส่วนจัดแสดงของเล่นเด็ก


ja4.jpg (37099 bytes)

คนสะสมถอดใจ ประกาศของหายในพิพิธภัณฑ์


ja5.jpg (37905 bytes)

มุมขายของที่ระลึกน่ารัก ๆ ของพิพิธภัณฑ์

ข้อมูลเอกสารอ้างอิง:
ู1. กิจกรรมการดูงานพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น โครงการวิจัยและพัฒนาพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น วันที่ 6 มีนาคม 2548.
2. จ่าสิบเอกทวี บูรณเขตต์. พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวี. พิษณุโลก: ชัยสยามการพิมพ์, 2538.
3. พรศิริ บูรณเขตต์. ทุ่งศรัทธา. พิษณุโลก: โรงพิมพ์ตระกูลไทย, 2547.(หนังสือนำชมพิพิธภัณฑ์)
4. พรศิริ บูรณเขตต์. ชีวิตพิพิธภัณฑ์ ชีวิตและงานวัฒนธรรมจ่าสิบเอกทวี บูรณเขตต์. พิษณุโลก: โรงพิมพ์ตระกูลไทย, 2547.

ที่ตั้ง 26/138 ถ.วิสุทธิ์กษัตริย์ อ.เมือง จ.พิษณุโลก 65000
โทร 0-5521-2749, 0-5530-1668
Fax 0-5521-1596
เวลาทำการ: 8.30-16.30 น. ปิดทุกวันจัทร์
ค่าเข้าชม: ผู้ใหญ่ 50 บาท โดยได้รับหนังสือทุ่งศรัทธาเป็นที่ระลึก เด็ก 20 บาท โดยได้รับของเล่นย้อนยุคเป็นที่ระลึก
นักศึกษา(หมู่คณะ) 20 บาท นักเรียน(หมู่คณะ) 10 บาท นักบวช พระภิกษุ สามเณร ได้รับยกเว้นค่าเข้าชม(ถวายความรู้)

ไม่มีความคิดเห็น: