วันเสาร์ที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2551
น้ำตกแก่งซอง อำเภอวังทอง จ.พิษณุโลก
เป็นแหล่งท่องเที่ยวในเขตอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง ด้านจังหวัดพิษณุโลก ตั้งอยู่ที่ตำบลแก่งซอง ริมทางหลวงหมายเลข 12 บริเวณ กม.45 เกิดจากลำน้ำเข็กลดระดับทำให้ธารน้ำมีลักษณะเป็นน้ำตก มีขนาดใหญ่กว่าน้ำตกสกุโณทยานที่อยู่บนเส้นทางสายเดียวกัน
บริเวณน้ำตกแก่งซอง มีบ้านเรือนต่างๆ ตั้งอยู่ริมน้ำตก มีสะพานแขวนเดินชมทิวทัศน์แม่น้ำเข็กและข้ามไปหมู่บ้านฝั่งตรงข้าม ตามรายทางใกล้กับน้ำตกแก่งซอง มีร้านอาหาร ร้านกาแฟและบริการล่องแก่งน้ำเข็กที่ตื่นเต้นสนุกสนาน ล่องได้เฉพาะช่วงฤดูน้ำหลากประมาณสิงหาคมถึงตุลาคม
พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวี
จ่าสิบเอกทวี บูรณเขตต์ หรือที่ชาวพิษณุโลกมักเรียกว่า "ลุงจ่า หรือจ่าทวี" เป็นชาวพิษณุโลกแต่กำเนิด ได้รับความรู้ด้านช่างศิลป์จากบิดา หลังจากนั้นเข้ากรุงเทพฯ ฝึกหัดและเป็นช่างวาดประจำร้านช่างศิลป์หลายแห่ง เมื่อพ.ศ. 2498 รับราชการทหารติดยศสิบตรี ต่อมาพ.ศ. 2502 กองทัพภาคที่ 3 ส่งไปฝึกงานหล่อโลหะที่กรมศิลปากร ต่อมาจึงยึดอาชีพปั้น หล่อโลหะ โดยเฉพาะพระพุทธรูป พระประธาน และพระบูชาต่าง ๆ พ.ศ. 2521 ลาออกจากราชการ ด้วยรักในศิลปะและเห็นในคุณค่าของใช้พื้นบ้าน ลุงจ่าเริ่มซื้อหาและรวบรวมของใช้พื้นบ้านที่คนทั่วไปมองว่าเป็นของรกของทิ้ง ไม่มีราคาเช่น สุ่ม ไห ไซ โอ่ง ฯลฯ โดยสะสมมานานกว่า 30 ปี จนนำไปสู่การเกิดพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวีในปี พ.ศ. 2526
ข้าวของเครื่องใช้พื้นบ้าน ส่วนใหญ่ลุงจ่าได้มาจากพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง ได้แก่ นครสวรรค์ พิจิตร กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ ตาก สุโขทัย อุตรดิตถ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากพิษณุโลก ของบางอย่างลุงจ่าต้องดั้นด้นเข้าไปหาเองในป่า ไม่มีราคาค่างวด แต่มีคุณค่า ซึ่งผู้ชมจะได้เรียนรู้ ชีวิต ความเชื่อ ความคิดของคนในอดีตจากข้าวของเครื่องใช้เหล่านี้
ในช่วงปี พ.ศ. 2526-2533 ลุงจ่าได้อธิบายนำชมแก่ผู้สนใจทุกคน โดยเฉลี่ยมีผู้ขอชมวันละ 30-50 คน ต่อมาบ้านที่จัดแสดงทรุดโทรมและคับแคบจนเกินไป ปีพ.ศ. 2533 จึงได้จัดสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์ขึ้นใหม่ และปรับปรุงทัศนียภาพโดยรอบ ตกแต่งสวนด้วยพันธุ์ไม้ไทยหลากลาย ในส่วนของการจัดแสดงได้ประมวลข้อมูลจากสมุดบันทึกที่จดเรื่องราวที่สนใจเป็นส่วนตัวไว้ ประกอบกับได้ออกไปสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมจากชาวบ้านเพื่อให้ได้ข้อมูลสมบูรณ์ขึ้น ปัจจุบันมีอาคารจัดแสดง 3 อาคารหลัก
อาคารหลังแรก เป็นบ้านไม้ที่เจ้าของเดิมสร้างขึ้นหลังเหตุการณ์ไฟไหม้ย่านตลาดเมืองพิษณุโลกเมื่อปี พ.ศ. 2500 ลุงจ่าซื้อบ้านนี้แล้วนำของเก่าที่สะสมมาเก็บไว้ บ้านนี้เป็นพิพิธภัณฑ์รุ่นบุกเบิก จน พ.ศ. 2533 จึงสร้างอาคารอื่น ๆ เพิ่มเติม นำของเก่าไปจัดแสดงในอาคารใหญ่ บ้านนี้ใช้จัดแสดงรูปภาพเก่า ๆ ที่แสดงประวัติศาสตร์ท้องถิ่นพิษณุโลก อาทิรูปการออกตรวจราชการงานเมืองในอดีต รูปเหตุการณ์ไฟไหม้ ปี 2500 รูปทัศนียภาพเมืองพิษณุโลกก่อนและหลังไฟไหม้ใหญ่ ภาพ"ของดีเมืองพิษณุโลก" และภาพชุมชนสำคัญในอดีต เช่น ชุมชนนครไทย เป็นต้น
อาคารหลังที่สอง เป็นอาคารสองชั้น จัดแสดงข้าวของเครื่องใช้พื้นบ้านไทยในอดีต แบ่งตามประโยชน์ใช้งาน ชั้นล่างจัดแสดง กระต่ายขูดมะพร้าว เครื่องจักสาน เครื่องเขิน ตุ่ม โอ่ง หม้อน้ำ เครื่องมือจับสัตว์ เครื่องมือจับปลา เหรียญธนบัตร เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย และนิทรรศการทำนา ในบางมุมจำลองบ้านเรือนส่วนต่าง ๆ ให้ดู อาทิ ครัวไฟ พาไลซึ่งเป็นองค์ประกอบส่วนหนึ่งของบ้านเรือนไทยในอดีต เป็นพื้นที่ส่วนที่ยื่นออกมาจากตัวเรือน ใช้เป็นพื้นที่เอนกประสงค์ ส่วนพาไลนี้จำลองให้เห็นเด็กนอนเปล และมีการบันทึกเสียงร้องกล่อมเด็กด้วย ส่วนชั้นบนจัดแสดง ของเล่น เครื่องดนตรี ไม้หมอนวด เรือนอยู่ไฟหลังคลอด สักยันต์ เครื่องมือช่าง อาวุธ เครื่องทองเหลือง ตะเกียง เป็นต้น
อาคารหลังที่สาม จัดแสดงนิทรรศการชาวโซ่ง(ลาวโซ่งหรือไทยทรงดำ) กรณีศึกษาชาวโซ่งบ้านแหลมมะค่า ต.พันเสา อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก ซึ่งอพยพมาจากเพชรบุรี ราชบุรี นานนับชั่วอายุคนแล้ว ชาวโซ่งมาพิธีเสนเรือน (เลี้ยงผีปู่ย่าตายาย) เสนอะนี(สะเดาะเคราะห์เมื่อมีคนตายในบ้าน)งานกินหลอง (กินดองหรืองานแต่งงานของชาวโซ่ง) เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีส่วนร้านค้าจำหน่ายของที่ระลึก อาทิ เสื้อยืด เข็มกลัด กระเป๋าผ้า โปสการ์ด ฯลฯ ซึ่งรายได้ส่วนหนึ่งนำมาช่วยแบ่งเบาค่าใช้จ่ายในพิพิธภัณฑ์ นอกเหนือจากลุงจ่าแล้วผู้ที่ดูแลและช่วยงานพิพิธภัณฑ์อีกคนหนึ่งคือคุณพรศิริ บูรณเขตต์ บุตรสาวจ่าทวี
ทุกวันนี้จ่าสิบเอกทวี ยังคงเสาะหารวบรวมสิ่งของเครื่องใช้และความรู้ที่ยังไม่มีอยู่ในพิพิธภัณฑ์มาเพิ่มเติมตลอดเวลา นอกจากนี้ยังปรับปรุงการจัดแสดงอยู่เสมอเท่าที่แรงศรัทธาและแรงทรัพย์ของท่านและครอบครัวจะทำได้ เพื่อเผยแพร่ "ขุมทรัพย์ทางประวัติศาสตร์และภูมิปัญญาไทย" ให้กว้างขวางที่สุด
อาคารพิพิธภัณฑ์แสดงเครื่องมือเครื่องใช้และวิถีชีวิตชาวบ้าน
การจัดแสดงบริเวณชั้นล่างของอาคาร
มุมครัวไฟซึ่งอยู่บริเวณชั้นล่างของอาคาร
บริเวณจุดพักผ่อนหลังจากเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์แล้ว
คุณพรศิริ สาธิตวิธีการใช้เครื่องมือดักสัตว์
ส่วนจัดแสดงของเล่นเด็ก
คนสะสมถอดใจ ประกาศของหายในพิพิธภัณฑ์
มุมขายของที่ระลึกน่ารัก ๆ ของพิพิธภัณฑ์
ข้อมูลเอกสารอ้างอิง:
ู1. กิจกรรมการดูงานพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น โครงการวิจัยและพัฒนาพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น วันที่ 6 มีนาคม 2548.
2. จ่าสิบเอกทวี บูรณเขตต์. พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวี. พิษณุโลก: ชัยสยามการพิมพ์, 2538.
3. พรศิริ บูรณเขตต์. ทุ่งศรัทธา. พิษณุโลก: โรงพิมพ์ตระกูลไทย, 2547.(หนังสือนำชมพิพิธภัณฑ์)
4. พรศิริ บูรณเขตต์. ชีวิตพิพิธภัณฑ์ ชีวิตและงานวัฒนธรรมจ่าสิบเอกทวี บูรณเขตต์. พิษณุโลก: โรงพิมพ์ตระกูลไทย, 2547.
ที่ตั้ง 26/138 ถ.วิสุทธิ์กษัตริย์ อ.เมือง จ.พิษณุโลก 65000 |
โทร 0-5521-2749, 0-5530-1668 |
Fax 0-5521-1596 |
เวลาทำการ: 8.30-16.30 น. ปิดทุกวันจัทร์ |
ค่าเข้าชม: ผู้ใหญ่ 50 บาท โดยได้รับหนังสือทุ่งศรัทธาเป็นที่ระลึก เด็ก 20 บาท โดยได้รับของเล่นย้อนยุคเป็นที่ระลึก นักศึกษา(หมู่คณะ) 20 บาท นักเรียน(หมู่คณะ) 10 บาท นักบวช พระภิกษุ สามเณร ได้รับยกเว้นค่าเข้าชม(ถวายความรู้) |
วันศุกร์ที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2551
อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง
แหล่งผืนป่าซาวันนาแห่งเดียวของภาคเหนือที่แอบแฝงเสน่ห์แห่งป่า ที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์ ความแตกต่างแห่งพืชพรรณที่ไม่พบเห็นบ่อยนักในป่าเมืองเหนือ นอกจากนี้ยังเป็ฯถิ่นอาศัยของสัตว์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และความหลากหลายทางชีวภาพมีพื้นที่ 789,000 ไร่ ในท้องที่จังหวัดพิษณุโลกและเพชรบูรณ์ ประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2518 สภาพภูมิประเทศเป็นภูเขาน้อยใหญ่สลับซับซ้อน เป็นต้นน้ำลำธารหลายสายที่ไหลลงสู่แม่น้ำน่าน ที่ทำการอุทยานฯ ตั้งอยู่ที่ กม. 80 เส้นทางสายพิษณุโลก - หล่มสัก นักท่องเที่ยวสามารถขอข้อมูลเดินทางศึกษาธรรมชาติ รวมทั้งใช้บริการที่พักและกางเต็นท์พักแรมได้ แหล่งท่องเที่ยวในเขตอุทยานฯ ได้แก่ น้ำตกต่างๆ บนเส้นทางสายพิษณุโลก - หล่มสัก เช่นน้ำตกแก่งโสภา น้ำตกวังนกแอ่น ส่วนพื้นที่ทางด้านตะวันออกและตอนกลางของอุทยานฯ ในเขต อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ เป็นบริเวณป่าสนและทุ่งหญ้าสะวันนา ได้แก่ ทุ่งแสลงหลวง ทุ่งพญา ทุ่งโนนสน ซึ่งนักท่องเที่ยวนิยมไปเดินป่าและกางเต็นท์พักแรม สามารถติดต่อได้ที่หน่วยพิทักษ์อุทยานฯ สล.8 (หน่วยฯ หนองแม่นา)
การเดินทางไปหน่วยฯ หนองแม่นา
รถส่วนบุคคล: จากบ้านแค้มป์สนกิโลเมตรที่ 100 เส้นทางพิษณุโลก-หล่มสัก แยกไปตามทาง 2196 ทางไปเขาค้อ จนถึงตลาดพัฒนา เลี้ยวขวาเข้าทาง 2325 จนถึงบ้านทานตะวัน มีทางไปหน่วยจัดการอุทยานฯ (หนองแม่นา) อีก 3 กิโลเมตร รวมระยะทางจากบ้านแค้มป์สน 35 กิโลเมตร
รถโดยสาร: จากสถานีขนส่งพิษณุโลกโดยสารรถประจำทางสายพิษณุโลก-หล่มสัก ลงรถที่บ้านแค้มป์สน กิโลเมตรที่ 100 จากนั้นจ้างเหมารถสองแถวที่ปากทางแค้มป์สนไปยังหน่วยฯ หนองแม่นา หรือเช่ารถสองแถวจากบริษัทรถเช่าในพิษณุโลกไปยังหน่วยฯ หนองแม่นาเลยก็ได้ สอบถามรายละเอียดได้ที่ทำการอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง โทร. 0 5526 8019
ที่พักและสิ่งอำนวยความสะดวก อุทยานมีบริการบ้านพักรายละเอียดติดต่อ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โทร. 0 2562 0760
สถานที่ท่องเที่ยวในจังหวัดพิษณุโลก
พระพุทธชินราชงามเลิศ ถิ่นกำเนิดพระนเรศวร สองฝั่งน่านล้วนเรือนแพ หวานฉ่ำแท้กล้วยตาก ถ้ำและน้ำตกหลากตระการตา
พิษณุโลก เป็นเมืองใหญ่ในเขตภาคเหนือตอนล่าง มากมีไปด้วยแหล่งประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และธรรมชาติของสายน้ำและป่าเขาที่สวยงามน่าท่องเที่ยว อยู่ห่างจากกรุงเทพมหานครประมาณ 377 กิโลเมตร จังหวัดพิษณุโลกมีพื้นที่ประมาณ 10,815 ตารางกิโลเมตร ลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขาและที่ราบสลับป่าไม้ทางด้านตะวันออก นอกนั้นเป็นที่ราบลุ่มอยู่โดยทั่วไป มีแม่น้ำสำคัญคือ แม่น้ำน่านซึ่งไหลผ่านบริเวณตัวเมือง แบ่งการปกครองออกเป็น 9 อำเภอคือ อำเภอเมือง อำเภอวังทอง อำเภอพรหมพิราม อำเภอบางระกำ อำเภอบางกระทุ่ม อำเภอนครไทย อำเภอวัดโบสถ์ อำเภอชาติตระการ และอำเภอเนินมะปรางประวัติศาสตร์ หลักฐานการสร้างเมืองพิษณุโลกมีมาแต่พุทธศตวรรษที่ 15 สมัยขอมมีอำนาจปกครองแถบนี้ แต่เดิมมีชื่อเรียกว่า “เมืองสองแคว” เนื่องจากเมืองนี้ตั้งอยู่ระหว่างแม่น้ำน่าน และแม่น้ำแควน้อย หรือบริเวณที่ตั้งของวัดจุฬามณีในปัจจุบัน เมื่อประมาณปี พ.ศ. 1900 สมเด็จพระมหาธรรมราชาลิไทแห่งกรุงสุโขทัย ได้โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายเมืองมาตั้งอยู่ ณ ตัวเมืองปัจจุบัน โดยมีฐานะเป็นเมืองลูกหลวง
สมัยอยุธยา เมืองพิษณุโลกทวีความสำคัญมากขึ้น เพราะเป็นเมืองกึ่งกลางระหว่างกรุงศรีอยุธยาและอาณาจักรฝ่ายเหนือ สมเด็จพระบรมไตรโลกนารถทรงปฏิรูปการปกครองและได้เสด็จมาประทับที่เมืองนี้ตั้งแต่ พ.ศ. 2006 จนสิ้นรัชกาลในปี พ.ศ. 2031 ช่วงนั้นพิษณุโลกเป็นราชธานีแทนกรุงศรีอยุธยานานถึง 25 ปี หลังรัชสมัยของพระองค์พิษณุโลกมีฐานะเป็นเมืองลูกหลวง เป็นหน้าด่านสำคัญที่จะสกัดกั้นกองทัพพม่า เมื่อครั้งพระนเรศวรมหาราชดำรงฐานะพระมหาอุปราชครองเมืองพิษณุโลก ระยะนั้นไทยตกเป็นเมืองขึ้นของพม่า สมเด็จพระนเรศวรได้ทรงรวบรวมชายฉกรรจ์ชาวพิษณุโลกกอบกู้อิสรภาพชาติไทยได้ในปี พ.ศ. 2127
ในสมัยกรุงธนบุรี พิษณุโลกเป็นสถานที่ตั้งมั่นรับศึกพม่า เมื่อครั้งกองทัพของอะแซหวุ่นกี้มาตีเมืองพิษณุโลก ในปี พ.ศ. 2318 อะแซหวุ่นกี้ต้องเผชิญการต่อสู้อย่างทรหดกับเจ้าพระยาจักรีและเจ้าพระยาสุรสีห์ถึงขนาดต้องขอดูตัว และได้ทำนายเจ้าพระยาจักรีว่าต่อไปจะได้เป็นกษัตริย์
ในสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้ทรงดำริให้รื้อกำแพงเมืองพิษณูโลกเพื่อไม่ให้ข้าศึกใช้เป็นที่มั่น ครั้นถึงปี พ.ศ. 2437 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้ยกฐานะเมืองพิษณุโลกขึ้นเป็นมณฑลเรียกว่า มณฑลพิษณุโลก ต่อมาเมื่อยกเลิกการปกครองแบบมณฑลแล้ว พิษณุโลกจึงมีฐานะเป็นจังหวัดเรื่อยมาจนปัจจุบัน
หมายเลขโทรศัพท์ที่สำคัญ
ประชาสัมพันธ์จังหวัด โทร. 0 5525 1394
โรงพยาบาลพุทธชินราช โทร. 0 5521 9842-4
โรงพยาบาลพิษณุเวช โทร. 0 5521 9941
โรงพยาบาลรวมแพทย์ โทร. 0 5521 9309-10
โรงพยาบาลรัตนเวช โทร. 0 5521 0820-1
โรงพยาบาลอินเตอร์เวชการ โทร. 0 5521 8777, 0 5521 7800
สภอ.เมือง โทร. 0 5525 8777, 0 5522 5491
ตำรวจองเที่ยวพิษณุโลก โทร. 0 5524 5357-8